จุกโรหินี ๑

Dischidia major (Vahl) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
กล้วยไม้ (เหนือ); โกฐพุงปลา, พุงปลาช่อน (กลาง); เถาพุงปลา (ตะวันออกเฉียงใต้); นมตำไร (เขมร); บวบลม (
ไม้เลื้อยอิงอาศัย ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม รากออกตามข้อ ใบเดี่ยว มี ๒ แบบ แบบหนึ่งเรียงตรงข้ามเป็นระยะห่างกัน รูปค่อนข้างกลมคล้ายกระทะคว่ำ หนาและอวบ อีกแบบหนึ่งใบเปลี่ยนเป็นถุงรูปกระสวยหรือรูปไข่แกมรูปรี ค่อนข้างเบี้ยวภายในกลวง เรียงตรงข้าม ค่อนข้างชิดหรือชิดกันมากเป็นกระจุก ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกทางด้านข้างของโคนก้านใบ ดอกสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกระบอกปลายเรียวเมล็ดรูปขอบขนาน ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว

จุกโรหินีชนิดนี้เป็นไม้เลื้อยอิงอาศัย ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม รากออกตามข้อ เกาะแนบกับกิ่งหรือต้นไม้ที่อิงอาศัย ต้นและกิ่งเรียวยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๓ มม. ผิวเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย มักมีคราบสีขาวหลุดเป็นแผ่นเล็ก ๆ ตามผิวลำต้นและใบ

 ใบเดี่ยว มี ๒ แบบ แบบหนึ่งเรียงตรงข้ามเป็นระยะห่างกัน สีเขียวอมขาวหรือสีเขียวอมเหลือง รูปค่อนข้างกลมคล้ายกระทะคว่ำ หนาและอวบ กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ปลายมนกลมและมีติ่งรูปสามเหลี่ยมกว้าง โคนมนกลม ขอบม้วนลง แผ่นใบด้านบนมักเป็นคลื่น ผิวขรุขระ ด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบนหรือสีออกม่วงแดง ผิวเรียบ เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบอวบหนา ยาว ๒-๓ มม. อีกแบบหนึ่งใบเปลี่ยนเป็นถุงรูปกระสวยหรือรูปไข่แกมรูปรี ค่อนข้างเบี้ยว เรียงตรงข้าม ค่อนข้างชิดหรือชิดกันมากเป็นกระจุก สีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมเหลืองจนถึงสีเหลือง กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๖-๑๐ ซม. ผิวด้านนอกขรุขระ มีสันและร่องตามยาว ภายในกลวงมักมีมดอาศัยอยู่ ผนังเป็นสีม่วงแดงและมีรากแยกแขนงแผ่กระจาย ก้านใบสั้นมาก

 ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกทางด้านข้างของโคนก้านใบ ก้านช่ออวบ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๓-๕ มม. แกนช่อคล้ายก้านช่อ แต่มีรอยของก้านดอกแต่ละชุดเป็นวงถี่ ก้านและแกนช่อมีอายุนานหลายปีออกดอกได้หลายครั้ง ดอกสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลืองก้านดอกเรียว ยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่


กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายแหลมขอบเป็นจักเล็กน้อยและมีขนครุย ด้านนอกมีขนหยาบสั้น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน รูปไข่หรือรูปคล้ายทรงพุ่มสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง กว้าง ๒.๕-๓.๕ มม. ยาว ๔-๕ มม. ด้านนอกมีขนนุ่ม ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เรียงชิดกัน แฉกรูปสามเหลี่ยมค่อนข้างหนา กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนสั้นประปราย ด้านในมีขนสีขาวกระจายทั่วไปรยางค์เส้าเกสรเชื่อมติดกันเป็นเส้าเกสรอยู่ในหลอดกลีบดอก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. รยางค์เส้าเกสร ๕ อัน เป็นแผ่นใส รูปคล้ายสมอเรือกลับหัวปลายค่อนข้างตัดและเว้าตรงกลาง ส่วนที่ยื่นคล้ายแขนแผ่กว้างและโค้งลง โคนเชื่อมติดกับโคนก้านชูอับเรณูเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ปลายอับเรณูมีแผ่นเยื่อบางรูปคล้ายใบหอก ขอบและปลายชิดกันเป็นรูปกรวยคว่ำสูงกว่ารยางค์ กลุ่มเรณูมี ๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มรูปคล้ายกระบองติดกับก้านกลุ่มเรณูในแนวตั้ง ก้านกลุ่มเรณูสีม่วงแดงยาวครึ่งหนึ่งหรือ ๑ ใน ๓ ของความยาวกลุ่มเรณู ปุ่มยึดก้านกลุ่มเรณูสีน้ำตาลอมแดง ยาวใกล้เคียงกับก้านกลุ่มเรณู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แยกจากกันแต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น เชื่อมติดกัน ยอดเกสรเพศเมียรูปไข่

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มี ๑-๒ ผล รูปทรงกระบอกปลายเรียว กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๕ ซม. เมล็ดจำนวนมาก รูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๒.๕ มม. เป็นเหลี่ยมเล็กน้อย มีขอบบาง ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว ยาวประมาณ ๑.๕ ซม.

 จุกโรหินีชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าชายหาด และป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซียและออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จุกโรหินี ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dischidia major (Vahl) Merr.
ชื่อสกุล
Dischidia
คำระบุชนิด
major
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Vahl, Martin (Henrichsen)
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Vahl, Martin (Henrichsen) (1749-1804)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
กล้วยไม้ (เหนือ); โกฐพุงปลา, พุงปลาช่อน (กลาง); เถาพุงปลา (ตะวันออกเฉียงใต้); นมตำไร (เขมร); บวบลม (
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง